+   *    +     +     
About Us 
The Issues 
Our Research Products 
Order Publications 
Multimedia 
Press Room 
Resources for Monitor Researchers 
ARCHIVES HOME PAGE 
    >
 
Table of Contents
Country Reports
รายงานการติดตามตรวจสอบสถานการณ์ทุ่นระเบิดในประเทศไทย ประจำปี 2546, Thailand in Thai, Landmine Monitor Report 2003

English | Locally published version as PDF

รายงานการติดตามตรวจสอบสถานการณ์ทุ่นระเบิดในประเทศไทย ประจำปี 2546

ความก้าวหน้าสำคัญ ๆ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2545: ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 15 - 19 กันยายน 2546 ในกรุงเทพฯ ไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชุดสุดท้ายในคลังสะสมในเดือนเมษายน 2546 การกวาดล้างทุ่นระเบิดในปี 2545 ครอบคลุมพื้นที่ 368,351 ตารางเมตร คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่และมีการประชุมครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2545

นโยบายเรื่องการห้ามทุ่นระเบิด

ไทยลงนามในอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 และให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดมีผลบังคับใช้ในไทยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นมา ไทยยังไม่ได้จัดเตรียมกฏหมายท้องถิ่นเพื่อกำกับการปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ได้มีการจัดทำ “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการควบคุมการปฏิบัติตามอนุสัญญา”[1] นอกจากนั้น กระทรวงกลาโหมยังอยู่ในระหว่างการแก้ไขกฏข้อบังคับต่าง ๆ จำนวนหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับการห้ามทุ่นระเบิด[2]

ไทยส่งมอบรายงานความโปร่งใส ตามมาตรา 7 ของอนุสัญญาฯ ประจำปีปฏิทิน 2545 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2546

ไทยและนอร์เวย์ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานร่วมของคณะกรรมการประจำด้านสถานะทั่วไปและปฏิบัติการของอนุสัญญาฯ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2544 จนถึงการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ประจำปีครั้งที่ 4 ในเดือนกันยายน 2545 นอกจากนั้น ไทยยังมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมการประชุมระหว่างสมัยประชุม ทั้งในเดือนกุมภาพันธ์และพฤษภาคม 2546 รวมถึงการพบปะหารือของกลุ่มความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการต่าง ๆ (Contact Groups) ที่มีความสนใจร่วมในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนความเป็นสากลของอนุสัญญาฯ รายงานความโปร่งใส และการระดมทรัพยากร

ที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ประจำปีครั้งที่ 4 ได้อนุมัติข้อเสนอของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐภาคีฯ ครั้งที่ 5 ในกรุงเทพฯ โดยได้กำหนดระยะเวลาการประชุมเป็นวันที่ 15-19 กันยายน 2546 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2546 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมรัฐภาคีฯ ครั้งที่ 5[3] พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 5 คณะเพื่อจัดเตรียมการประชุมรัฐภาคีฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2546[4] รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวนห้าล้านบาท (117,346 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ)[5] เพื่อการจัดประชุมรัฐภาคีฯ ครั้งที่ 5[6] ในฐานะว่าที่ประธานการประชุมรัฐภาคีฯ ครั้งที่ 5 ไทยได้เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ของคณะกรรมการประสานงานของอนุสัญญาฯ

องค์กรเอกชนต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย องค์การคนพิการสากล มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล-ประเทศไทย และคณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะทำงานด้านวิชาการ ซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) เป็นประธาน[7]

รัฐภาคีจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ได้รวมตัวกันในนาม Bangkok Regional Action Group (BRAG) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่อต้านทุ่นระเบิดต่าง ๆ ภายในภูมิภาค ก่อนหน้าการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 5[8] ไทย พร้อมด้วยออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในภูมิภาค ได้ร่วมยื่น Joint Demarche เรียกร้องให้ประเทศที่ยังไม่ได้เป็นรัฐภาคีอนุสัญญาฯ เร่งดำเนินขั้นตอนภาคิยานุวัติเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีโดยเร็วที่สุด[9] ในที่ประชุมคณะกรรมการประจำระหว่างสมัยประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ผู้แทนไทยได้แถลงว่า “วิถีทางที่ปฏิบัติได้ดีที่สุดเพื่อยกระดับความร่วมมือในอนุสัญญาฯ ได้แก่การใช้วิธีก้าวไปทีละก้าว โดยเริ่มจากการกระตุ้นความร่วมมือในกิจกรรมด้านทุ่นระเบิดภายในภูมิภาค”[10] ต่อมาในเดือนเดียวกัน ในที่ประชุมเรื่องการลดอาวุธ ไทยได้เชิญชวนให้ทุกประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดครั้งที่ 5 โดยชี้ว่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุมในเอเชีย[11]

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2545 ไทยออกเสียงสนับสนุนมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หมายเลข 57/74 ซึ่งเรียกร้องความเป็นสากลและการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด ในฐานะว่าที่ประธานการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 5 ไทยได้ร่วมกับเบลเยี่ยม ประธานการประชุมในปัจจุบัน และนิคารากัว ประธานการประชุมครั้งล่าสุด ในการเสนอมติดังกล่าว ไทยมีความกระตือรือร้นในการแสวงหาผู้สนับสนุนมติร่วมจากบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค

คณะกรรมการอาวุโสของอาเซียนได้หยิบยกข้อเสนอแนะจากการสัมมนาระดับภูมิภาคเรื่องทุ่นระเบิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดขึ้นในไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2545 ขึ้นมาหารือ และเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม 2546.[12]

คณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด ได้จัดพิมพ์และเผยแพร่เอกสารรายงานการติดตามตรวจสอบสถานการณ์ทุ่นระเบิดในประเทศไทย ประจำปี 2545 (ตามรูปแบบการรายงานของ Landmine Monitor Report 2002) อย่างกว้างขวาง ทั้งแก่หน่วยงานราชการและพลเรือน

การผลิตและโอน

ไทยระบุว่าไม่เคยทำการผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคลมาก่อน[13] รวมถึงทุ่นระเบิดแบบอโลหะ M18 (เคลย์โมร์)[14] รัฐบาลไทยไม่เคยส่งออกทุ่นระเบิดสังหารบุคคล อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม* 2544 (*ทีมวิจัยสถานการณ์ฯ Landmine Monitor ในไทย แก้ไขข้อมูลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ) ได้เกิดกรณีข้าราชการกองทัพบกไทย 2 นายที่เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามลักลอบส่งออกทุ่นระเบิดอย่างผิดกฏหมาย คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการสอบพยานโดยศาลทหาร[15] Landmine Monitor ไม่ได้รับการขานรับจากรัฐบาลไทยในเรื่องข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระยะก่อนหน้านี้ กล่าวคือ กรณีที่นักธุรกิจและนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาขายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลให้แก่กลุ่มกบฏพม่าในปี 2544 [16]

ในเดือนพฤศจิกายน 2545 รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ Phnom Penh Post (ในกัมพูชา) ระบุว่ากลุ่มนักลอบนำของเถื่อนชาวกัมพูชา ถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บหลังจากถูกตำรวจตระเวนชายแดนไทยผลักดันให้ล่าถอยไปในพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดฝังอยู่[17] กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและ “พบว่าตำรวจตระเวนชายแดนไทยไม่ได้วางฝังทุ่นระเบิดหรือใช้ทุ่นระเบิดในปฏิบัติการดังกล่าว”[18] ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ก็ได้ดำเนินการตรวจสอบเช่นกัน หากแต่ไม่พบหลักฐานว่ามีการวางฝังทุ่นระเบิด หรือทุ่นระเบิดได้สังหารกลุ่มผู้ลักลอบเหล่านั้น[19]

การสะสมในคลังและการทำลาย

ไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในคลังสะสมหมดสิ้นไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2546 ในพิธีที่จัดขึ้นเป็นพิเศษในวันดังกล่าว เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย และอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้กดปุ่มทำลายทุ่นระเบิดชุดสุดท้าย[20]

ไทยเคยมีทุ่นระเบิดในคลังสะสมทั้งสิ้นจำนวน 342,695 ทุ่น ระหว่างปี 2542-2545 ได้มีการทำลายทุ่นระเบิดจำนวน 286,245 ทุ่น[21] และในปี 2546 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน 2546 ไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดอีกจำนวน 51,480 ทุ่น ดังนั้น จำนวนทุ่นระเบิดที่ถูกทำลายไป คือ 337,725 ทุ่น โดยมีค่าใช้จ่าย 10 บาทต่อทุ่น (0.23 ดอลล่าร์สหรัฐ) ปฏิบัติการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลไทย [22]

ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ถูกทำลาย หลังจากการรายงานล่าสุดของ Landmine Monitor Report 2002

จังหวัดที่ตั้ง
สนามทำลายทุ่นระเบิด
วัน-เดือน-ปี
จำนวนทุ่นระเบิด
ที่ถูกทำลาย
จำนวนทุ่นระเบิด
ที่คงเหลือในคลัง*
ลพบุรี (กองทัพบก)
5-29 สิงหาคม 2545
20,000
56,450
ราชบุรี (กองทัพบก)
19 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2546
11,264
45,186
ลพบุรี (กองทัพบก)
10-27 มีนาคม 2546
13,472
31,714
จันทบุรี (กองทัพเรือ)
18-23 เมษายน 2546
13,272
18,442
ลพบุรี (กองทัพบก)
10-24 เมษายน 2546
13,472
4,970
ยอดรวม
71,480
4,970

* รวมทุ่นระเบิดจำนวน 4,970 ทุ่นที่เก็บไว้เพื่อการฝึกอบรม

ตามที่มาตรา 3 ของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดได้ระบุอนุญาต ไทยได้สงวนทุ่นระเบิดจำนวน 4,970 ทุ่นไว้เพื่อการฝึกอบรมและศึกษาวิจัย ในระยะแรก ไทยได้เสนอขอเก็บทุ่นระเบิดจำนวน 9,487 ทุ่น แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2544 ได้มีการลดจำนวนลง หน่วยงานที่รับผิดชอบทุ่นระเบิดที่สงวนไว้ ได้แก่ กองทัพบก (3,000 ทุ่น) กองทัพเรือ (1,000 ทุ่น) กองทัพอากาศ (600 ทุ่น) และสถาบันตำรวจแห่งชาติ โดยกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน (370 ทุ่น)[23] ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติระบุว่า ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2546 ยังไม่มีการนำทุ่นระเบิดที่สงวนไว้ไปใช้แต่อย่างใด แต่ทุ่นระเบิดที่ใช้ในการฝึกอบรมในระยะที่ผ่านมา อาจนำมาจากจำนวนที่ต้องนำไปทำลาย[24]

ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติรายงานว่าทุกหน่วยของเหล่าทัพได้รับทราบแล้วว่าจะใช้ทุ่นระเบิดแบบอโลหะ M18 (เคลย์โมร์) ได้เฉพาะเมื่อมีการควบคุมการจุดระเบิดโดยบุคคลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการใด ๆ เพื่อดัดแปลงชิ้นส่วน อันจะประกันว่าจะสามารถใช้ระเบิดเคลย์โมร์ได้เฉพาะเมื่อบุคคลควบคุมการจุดระเบิด[25] ไทยไม่ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับระเบิดเคลย์โมร์ในคลังสะสม ในรายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7

ปัญหาทุ่นระเบิด การสำรวจและประเมินสถานการณ์

รายงานการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย (Landmine Impact Survey - Kingdom of Thailand) ซึ่งแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2544 ระบุว่ามีพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดฝังอยู่มากกว่า 2,556,000,000 ตารางเมตร ใน 27 จังหวัดตามแนวชายแดนที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และมาเลเซีย[26] รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่ามี 531 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด ซึ่งรวมถึง 297 ชุมชนตามชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดฝังอยู่ 934 แห่ง ไม่มีการทำเครื่องหมายเตือนภัย ยกเว้นบริเวณที่มีปฏิบัติการเก็บกู้กวาดล้าง[27] หน่วยงานทหารมีแผนที่พื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดเพียงบางแห่งเท่านั้น ทุกวันนี้ พลเรือนจำนวนมากยังคงเสี่ยงภัยอย่างมากเมื่อเข้าไปในพื้นที่ที่รู้ว่ามีทุ่นระเบิดฝังอยู่เพื่อหาอาหาร เก็บฟืน และทำการเกษตรเพื่อยังชีพ ทางเลือกอื่นไม่เปิดโอกาสให้มีงานทำมากนัก จึงมีแรงบีบบังคับให้พวกเขาต้องใช้พื้นที่เหล่านั้น

เอกสารรายงานการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิด ซึ่งครอบคลุมผลการดำเนินการระหว่างเดือนกันยายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ได้รับการเผยแพร่ในช่วงกลางปี 2545 และหน่วยงานในไทยได้รับเอกสารฉบับดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2545[28] การเผยแพร่เอกสารอยู่ในวงจำกัดมาก รายงานฉบับนี้อยู่ในระหว่างการจัดแปลเป็นภาษาไทย เมื่อเปรียบเทียบกับการแถลงผลการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 พบว่าข้อมูลในเอกสารรายงานมีความแตกต่างออกไปเล็กน้อย[29]

ภายหลังจากการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิด ศทช. โครงการเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Humanitarian Demining Program: USHDP) และมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ดำเนินการสำรวจแบบรวบรัด โดยตรวจสอบพื้นที่บางแห่งที่ได้รับการสำรวจไปก่อนหน้านี้แล้ว[30]

ระบบปฏิบัติการฐานข้อมูลเพื่อปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม (Information Management System for Mine Action: IMSMA) ได้รับการติดตั้งไว้ที่ ศทช. ตั้งแต่ต้นปี 2544 และใช้ปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่ ข้อมูลจากการสำรวจผลกระทบฯ ได้รับการบรรจุไว้ในฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง[31]

การประสานงานและจัดทำแผนงาน

ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานชั่วคราวภายใต้กองบัญชาการทหารสูงสุดของเหล่าทัพ และรับผิดชอบการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมระดับชาติ ศทช. ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลผ่านทางกองบัญชาการทหารสูงสุด ศทช. ไม่สามารถว่าจ้างพลเรือนทำงานโดยตรง และบุคลากรก็ไม่ได้มาจากกระทรวงอื่น ๆ ในระยะที่ผ่านมา ได้มีความพยายามในการขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงอื่น ๆ ในเรื่องการจัดหาทีมเก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือน หากแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในระดับชาติ ซึ่งมีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545[32] คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ให้คำแนะนำต่อปฏิบัติการต่าง ๆ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ให้คำแนะนำต่อรัฐบาล แต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ขึ้นเพื่อดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และประสานงานกับหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง[33] ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม คณะกรรมการอนุมัติ “แผนแม่บทการปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมของประเทศไทย ฉบับที่ 1 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1) ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2545-2549)”[34] แผนแม่บทดังกล่าว ซึ่งจัดทำขึ้นบนพื้นฐานผลการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิด ระบุถึงลำดับความสำคัญของพื้นที่ยุทธศาสตร์ 20 แห่ง การกำหนดลำดับความสำคัญเหล่านี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของพลเรือน ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงสถานศึกษา ศาสนสถาน พื้นที่เกษตรกรรม และแหล่งน้ำ[35]

ความช่วยเหลือและทุนสนับสนุนในปฏิบัติการทุ่นระเบิด

ในปีงบประมาณ 2545 (ตุลาคม 2544 - กันยายน 2545) ศทช. ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลไทยทั้งสิ้น 32 ล้านบาท (751,015 ดอลล่าร์สหรัฐ) สำหรับปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม[36] งบประมาณประจำปี 2546 ได้รับการจัดสรรไว้เพื่อปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมเป็นจำนวน 35 ล้านบาท (821,422 ดอลล่าร์สหรัฐ)

รัฐบาลไทยยังได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 5 ล้านบาท (117,346 ดอลล่าร์สหรัฐ) ให้แก่กองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 5 นอกจากนั้น รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ) ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 500,000 บาท (11,734 ดอลล่าร์สหรัฐ) เพื่อการจัดเตรียมการประชุมครั้งนี้ [37]

ในปี 2545 ความช่วยเหลือด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ที่สหรัฐอเมริกาดำเนินการในประเทศไทยมีมูลค่ารวม 801,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (34,129,809 บาท) โดยจำนวนดังกล่าวครอบคลุมถึงการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อปฏิบัติการภาคสนามของ ศทช. คิดเป็นมูลค่า 650,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (27,695,850 บาท) ในขณะที่ส่วนที่เหลือได้ช่วยให้บุคลากรทางทหารจากสหรัฐอเมริกาสามารถจัดการฝึกอบรมผู้ฝึกสอนไทย 2 ครั้ง[38] นอกจากนั้น ศทช. ยังคงใช้เครื่องจักรกล SDTT-48 (Pearson) และ TEMPEST เพื่อจุดประสงค์ด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความอุปภัมภ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอมริกา [39]

สำหรับปีงบประมาณ 2546 สหรัฐอเมริกาจะไม่จัดสรรงบประมาณสนับสนุนโดยตรงให้แก่ไทยแต่อย่างใด โครงการความร่วมมือเพื่อจัดหาสุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิดของ Marshall Legacy Institute ซึ่งสำนักงานโครงการกวาดล้างทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจัดตั้งขึ้น ได้ตกลงจะจัดสรรสุนัขตรวจค้นที่ผ่านการฝึกแล้วจำนวน 6 ตัว ให้แก่หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (นปท.) ที่ 3 กลุ่มบริษัทรอยัล ดัชท์ เชลล์ (Royal Dutch Shell Group of Companies) เป็นผู้ให้ทุนจำนวน 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (4,260,900 บาท) เพื่อการจัดสรรสุนัข 6 ตัวดังกล่าว[40] ในปี 2546 สหรัฐอเมริกามีแผนจะบริจาคเครื่องจักรกล TEMPEST 1 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (4,260,900 บาท)[41]

สหรัฐอเมริกาและไทยอยู่ในระหว่างการเจรจาเรื่องบันทึกความเข้าใจเพื่อการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการกวาดล้างทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม ซึ่งจะตั้งอยู่ในไทย ครอบคลุมงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดโดยพลเรือน และบริหารจัดการโดยผู้ถือสัญญาว่าจ้างของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในกรณีที่มีการบรรลุข้อตกลงในเรื่องบันทึกความเข้าใจดังกล่าว หน่วยปฏิบัติการจะรับผิดชอบการกวาดล้างทุ่นระเบิดในประเทศไทยเป็นหลัก แต่จะต้องมีความพร้อมที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศในกรณีฉุกเฉินตามดุลพินิจของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย[42]

รัฐบาลแคนาดาได้บริจาคเครื่องจักรกลกวาดล้างทุ่นระเบิด PROMAC (BDM 48) และสารเคมีจุดระเบิด FIXOR ที่ผลิตในแคนาดา ในมูลค่าประมาณ 340,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (14,487,060 บาท) ให้แก่ นปท. 1 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2546[43] มหาวิทยาลัยควีนส์ (ประเทศแคนาดา) และศูนย์เทคโนโลยีเพื่อปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งแคนาดา (Canada Centre for Mine Action Technologies: CCMAT) โดยการสนับสนุนของรัฐบาลแคนาดา ได้ร่วมกันจัดโครงการฝ่าเท้าเทียมไนแอการา (Niagara Foot) สำหรับการทดลองใช้กับคนไข้ในโรงพยาบาลอรัญประเทศที่ได้รับการคัดเลือก โครงการดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนเป็นจำนวนประมาณ 67,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (2,854,803 บาท)[44]

องค์กรพันธมิตรแห่งญี่ปุ่นเพื่อการสนับสนุนด้านการกวาดล้างทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (Japan Alliance for Humanitarian Demining Support: JAHDS) ประจำไทย ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นจำนวน 18,782,212 บาทต่อปี (438,888 ดอลล่าร์สหรัฐ) ได้จัดให้มีที่ปรึกษาเข้าประจำที่ ศทช. ระหว่างเดือนมีนาคมและตุลาคม 2545 JAHDS ได้นำเครื่อตรวจค้นทุ่นระเบิดเรดาร์ชื่อ Mine Eye ซึ่งได้รับการคิดค้นขึ้นล่าสุด มาให้ นปท. ต่าง ๆ และทีมเก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนได้ใช้ในปฏิบัติการ[45] ในเดือนมีนาคม 2545 สโมสรไลออนส์แห่งกรุงโตเกียวได้บริจาคยานพาหนะ 2 คัน และเครื่องตรวจค้นโลหะ 17 เครื่อง ในมูลค่ารวม 3 ล้านบาท (69,767 ดอลล่าร์สหรัฐ) ให้แก่ นปท. 3 ผ่านทาง JAHDS[46] ในเดือนธันวาคม 2545 JAHDS ได้เริ่มจัดสรรความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการบริหารจัดการให้แก่ทีมเก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนของมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น[47]

ทุนสนับสนุนมูลค่า 400,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (17,043,600 บาท) ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดสรรให้แก่กองทุนสมัครใจเพื่อปฏิบัติการทุ่นระเบิดของสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2543 ถูกใช้จ่ายหมดไปในปีปฏิทิน 2545[48]

มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ สนับสนุนการฝึกอบรมพลเรือนและปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเป็นจำนวนเงิน 600,000 บาท (14,082 ดอลล่าร์สหรัฐ)[49]

องค์การแฮนดิแคป อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รับงบประมาณจำนวน 4,092,210 บาท (96,041 ดอลล่าร์สหรัฐ) จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ สนับสนุนโครงการ “การให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงจากทุ่นระเบิด” ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ลี้ภัยจากเมียนมาร์และประชาชนไทยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ระหว่างเดือนกรกฎาคม และตุลาคม 2545 องค์การแฮนดิแคปฯ ได้จัดโครงการ “สร้างความเข้มแข็งของระบบและกลไกการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย” ด้วยงบประมาณจำนวน 491,494 บาท (11,535 ดอลล่าร์สหรัฐ) จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ในปี 2545 องค์การแฮนดิแคปฯ ดำเนินโครงการ “ให้ความรู้เรื่องภัยทุ่นระเบิดและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดโดยฐานชุมชน” ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ด้วยงบประมาณจำนวน 898,283 บาท (21,082 ดอลล่าร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุนสนับสนุนจำนวน 1,267,447 บาท (29,746 ดอลล่าร์สหรัฐ) ในระยะเวลา 3 ปีที่ได้รับจากสำนักงานความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย โครงการดังกล่าวสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2546[50]

ในปี 2545 โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดในจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ซึ่งดำเนินการโดยคณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนแคนาดาเพื่อความริเริ่มของท้องถิ่น เป็นจำนวนเงิน 261,923 บาท (6,147 ดอลล่าร์สหรัฐ) ได้สิ้นสุดลง[51]

มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดำเนินกิจกรรมด้วยเงินบริจาคภายในประเทศจำนวน 10,000,000 บาท (234,692 ดอลล่าร์สหรัฐ)[52]

การเก็บกู้กวาดล้างทุ่นระเบิด

ในปี 2545 ศทช. ได้เก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่รวม 368,351 ตารางเมตร โดย 213,921 ตารางเมตรของพื้นที่ดังกล่าว ได้รับการตรวจสอบและประกาศเป็นพื้นที่ปลอดทุ่นระเบิด และได้มีการส่งมอบพื้นที่ 44,800 ตารางเมตรคืนเพื่อการใช้ประโยชน์ของพลเรือนในท้องถิ่น[53] ในระหว่างปฏิบัติการต่าง ๆ ดังกล่าว ได้มีการทำลายวัตถุระเบิดต่าง ๆ ที่เก็บกู้ได้ กล่าวคือ ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลจำนวน 150 ทุ่น ทุ่นระเบิดกับดักยานพาหนะ 5 ทุ่น และสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิดอีกจำนวน 189 ลูก[54]

นับแต่เริ่มปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ถึงเดือนธันวาคม 2545 ศทช. ดำเนินการกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่ 451,326 ตารางเมตร และสามารถกำจัดทุ่นระเบิดสังหารบุคคลจำนวน 621 ทุ่น ทุ่นระเบิดกับดักยานพาหนะ 6 ทุ่น และสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิดอีก 624 ลูก[55] ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2546 ได้มีการเก็บกู้ทุ่นระเบิดจากพื้นที่รวม 83,397 ตารางเมตร โดยพื้นที่ 22,400 ตารางเมตรจากจำนวนดังกล่าว ได้รับการประกาศยืนยันว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย[56] 

ปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในปี 2545 ดำเนินไปตามแผนแม่บทฉบับแก้ไขเพิ่มเติม[57] หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (นปท.) 1 ได้เก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ป่าที่มีผลกระทบสูง เพื่อให้สามารถใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกได้ และยังได้เก็บกู้ในพื้นที่บริเวณรอบปราสาทเขมรโบราณ นปท. 2 เก็บกู้ในพื้นที่บริเวณตลาดชายแดนที่ทั้งชาวไทยและกัมพูชาใช้ติดต่อค้าขาย นปท. 3 เริ่มเก็บกู้ในพื้นที่รอบสะพานเชื่อมถนนแห่งหนึ่ง พื้นที่ 44,800 ตารางเมตรในจังหวัดสระแก้วที่มีการส่งมอบคืนแล้ว ถูกใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรกรรมและเพาะปลูกพืช อาทิ มันสำปะหลัง[58]

โครงสร้างของ ศทช. ประกอบด้วยสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ นปท. 4 แห่ง ศูนย์ฝึกอบรมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิด 1 แห่งในจังหวัดราชบุรี ศูนย์ฝึกอบรมการแจ้งเตือนภัยทุ่นระเบิด 1 แห่งในจังหวัดลพบุรี และศูนย์ฝึกสุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิด 1 แห่งในจังหวัดนครราชสีมา[59] ศทช. มีบุคลากรทั้งสิ้นจำนวน 311 คน ซึ่งรวมถึงทีมสำรวจ 18 คน ทีมเก็บกู้ทุ่นระเบิด 144 คน ทีมทำลายวัตถุระเบิด 18 คน ทีมแจ้งเตือนให้ความรู้ 24 คน และตำแหน่งอื่น ๆ อีก 107 คน นอกจากนั้น ยังมีสุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิดจำนวน 21 ตัว เครื่องหาพิกัดด้วยสัญญานดาวเทียม 16 เครื่อง เครื่องมือกล 6 เครื่อง เครื่องจักรกล Brush Deminer 1 เครื่อง อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้งานด้วยมือ และเครื่องตรวจค้นโลหะอีก 93 เครื่อง[60]

ในเดือนตุลาคม 2545 ศทช. จัดตั้ง นปท. 4 ซึ่งมีบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว 14 คน และรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ น่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ตามแผนปฏิบัติการฉบับปัจจุบัน จะต้องมีการจัดตั้ง นปท. 5 ขึ้นด้วย[61]

นอกเหนือจาก นปท. ต่าง ๆ แล้ว ทีมเก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือน 1 ทีม ยังได้รับการฝึกอบรมจาก ศทช. ด้วย ในเดือนมกราคม 2546 พลเรือนจำนวน 14 คนได้เริ่มดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในบริเวณปราสาท สด๊ก ก๊อก ธม ในจังหวัดสระแก้ว ทีมพลเรือนเก็บกู้ระเบิดดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และองค์กรพันธมิตรแห่งญี่ปุ่นเพื่อการสนับสนุนด้านการกวาดล้างทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม[62] ศทช. ไม่สามารถจัดฝึกอบรมทีมพลเรือนเก็บกู้ระเบิดเพิ่มเติมจากจังหวัดสระแก้วและจันทบุรี ภายในปี 2545 ตามความคาดหวังได้ เนื่องจากไม่ได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 1 ล้านบาท (23,469 ดอลล่าร์สหรัฐ) ที่ร้องขอเพื่อการดำเนินการดังกล่าว

การให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงจากภัยทุ่นระเบิด

ในปี 2545 นปท. ทั้ง 4 หน่วย รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนอีก 2 แห่ง (องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย) ดำเนินกิจกรรมให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงจากภัยทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด นปท. ต่าง ๆ ดำเนินกิจกรรมการแจ้งเตือนให้ความรู้เรื่องภัยทุ่นระเบิดครอบคลุมประชากร 45,273 คน ใน 69 ชุมชนของจังหวัดตราด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และเพชรบูรณ์[63] นับแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ประชากรจำนวนรวม 185,888 คนใน 248 ชุมชน ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว[64] ในส่วนของการประเมินผลกิจกรรมการแจ้งเตือนฯ มีเพียง นปท. 3 ที่ระบุว่าได้ดำเนินการเป็นการภายใน[65]

ในวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2545 ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย จัดโครงการฝึกอบรมและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลบริเวณชายแดน แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว จำนวน 121 คน โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ[66] และในวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2546 ได้จัดโครงการลักษณะเดียวกันอีกครั้งหนึ่งให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กิ่งอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว จำนวน 48 คน[67] ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ยังไม่สามารถขยายโครงการไปสู่โรงเรียนตามแนวชายแดนได้ เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณสนับสนุน

ในเดือนมีนาคม 2546 องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ปิดโครงการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน และการให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงจากภัยทุ่นระเบิดในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งดำเนินการครบระยะเวลา 3 ปี ในปี 2545 โครงการดังกล่าว ยังประโยชน์ให้ประชากร 6,870 คน ซึ่งรวมถึงสมาชิกชุมชนจำนวน 6,300 คน นักเรียนระดับประถมศึกษา 420 คน และนักเรียนนอกพื้นที่เสี่ยงภัยทุ่นระเบิดอีก 150 คน[68]

ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ หรือในภาคตะวันตกของไทย องค์การแฮนดิแคปฯ ได้ปิดโครงการสำรวจผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดที่โรงพยาบาลประจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หลังจากดำเนินการมาครบระยะเวลา 2 ปี ผลจากการสำรวจดังกล่าว ชี้ว่าร้อยละ 68 ของผู้บาดเจ็บจากเหตุทุ่นระเบิด ที่ได้รับการสัมภาษณ์ ไม่เคยได้รับข้อมูลเรื่องความเสี่ยงจากภัยทุ่นระเบิด ผลการสำรวจสามารถนำไปใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงจากภัยทุ่นระเบิดได้[69] สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติให้การสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับโครงการดังกล่าว[70]

องค์การแฮนดิแคปฯ ยังได้ประเมินผลโครงการให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงจากภัยทุ่นระเบิดในพื้นที่รองรับผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมาร์ 6 แห่งในจังหวัดตาก[71] กิจกรรมการให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงจากภัยทุ่นระเบิดอื่น ๆ ได้แก่การฝึกอบรมนักเรียนในเรื่องการผลิตสื่อ-อุปกรณ์เพื่อใช้ในกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงฯ การจัดตั้งคณะกรรมการด้านการให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงฯ และกลุ่มทำงานเรื่องกิจกรรมในระหว่างเด็ก เพื่อจัดเตรียมข้อมูล-สื่อประชาสัมพันธ์และจัดงานวันปลอดทุ่นระเบิดขึ้นภายในค่ายผู้ลี้ภัย[72] โครงการดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และราชบุรี ประสบความชะงักงันชั่วคราวสืบเนื่องจากปัญหาความตึงเครียดกับประเทศเมียนมาร์และความกังวลด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน ในช่วงต่อมา องค์การแฮนดิแคปฯ สามารถติดตามคนไข้รายต่าง ๆ ในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน ราชบุรี และกาญจนบุรี แต่ไม่สามารถขยายกิจกรรมด้านการให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงจากภัยทุ่นระเบิดไปสู่หมู่บ้านไทยที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด ในเขตตำบลแม่หละ ตามแผนที่กำหนดไว้ได้

ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทุ่นระเบิด

ในปี 2545 มีการรายงานจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุทุ่นระเบิดรายใหม่ในประเทศไทยอย่างน้อย 36 ราย อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีกลไกในการจัดเก็บข้อมูลจากทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ นปท. 1-4 รายงานว่ามีผู้ประสบภัยรายใหม่จำนวนรวม 21 ราย โดยเป็นผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 19 รายในพื้นที่ 6 จังหวัดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา กล่าวคือ จังหวัดสระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และจันทบุรี[73] ผู้บาดเจ็บ 3 รายจากจำนวนดังกล่าว มีสัญชาติกัมพูชา[74] ในเดือนมิถุนายน 2545 หญิงไทยอายุ 45 ปีได้รับบาดเจ็บจากเหตุทุ่นระเบิดในจังหวัดสระแก้ว[75] แต่ไม่ปรากฎว่ามีการบันทึกข้อมูลในระบบฐานข้อมูล ศทช. ไม่มีข้อมูลจากพื้นที่เสี่ยงภัยอื่น ๆ ซึ่งไม่มี นปท. ประจำอยู่ นปท. ทั้ง 4 หน่วยจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากทุ่นระเบิด และจัดส่งไปยัง ศทช. เพื่อจัดเก็บในระบบปฏิบัติการฐานข้อมูล Information Management System for Mine Action (IMSMA) จนถึงเดือนมีนาคม 2546 ระบบการรายงานข้อมูลจาก นปท. ไปยัง ศทช. ยังคงใช้การไม่เต็มประสิทธิภาพ

โรงพยาบาลอำเภอแม่สอด (จังหวัดตาก) ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทย-พม่า บันทึกว่าในปี 2545 มีคนไข้จำนวน 68 คนเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทุ่นระเบิด โดยร้อยละ 20 ของจำนวนดังกล่าวแจ้งว่าประสบอุบัติเหตุที่ชายแดนฝั่งประเทศไทย [76]

ข้อมูลผู้ประสบภัยในปี 2545 ระบุว่าทหารในทีมเก็บกู้ทุ่นระเบิดรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติการที่อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ทำให้ต้องสูญเสียฝ่าเท้าขวา[77]

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ช้างพังชื่อ โม แม่ลุ อายุ 28 ปี ได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบทุ่นระเบิดที่ชายแดนไทย-พม่า โรงพยาบาลช้างในจังหวัดลำปางได้ให้การรักษาพยาบาลแผลที่เท้าซ้ายด้านหน้าของช้างตัวนี้[78]

ผลการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย ซึ่งดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน 2542 ถึงพฤษภาคม 2544 ระบุว่ามีผู้ประสบภัยรายใหม่ 346 ราย โดยในจำนวนนี้ 79 รายเสียชีวิต และ 267 รายได้รับบาดเจ็บ มีบันทึกจำนวนผู้ประสบภัยก่อนหน้าระยะเวลาสำรวจดังกล่าวไว้ 3,122 คน โดยเป็นผู้เสียชีวิต 1,418 ราย และบาดเจ็บ 1,704 ราย[79]

การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด

ไทยมีบริการด้านการแพทย์และการฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงสถานีอนามัย โดยมีทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล[80] โดยทั่วไปแล้ว ความช่วยเหลือสำหรับผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดมีอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกรที่ยากจน จึงประสบปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพ

ศทช. มีอาณัติในการประสานความช่วยเหลือสำหรับเหยื่อทุ่นระเบิด ในปี 2545 ศทช. ให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวน 17 รายในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยการนำส่งโรงพยาบาลเมื่อประสบอุบัติเหตุ และการสนับสนุนการฝึกอบรมการผลิตและซ่อมขาเทียม[81] ในที่ประชุมคณะกรรมการประจำด้านต่าง ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 มีการรายงานว่าเมื่อไม่นานมานี้ ศทช. ได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมเรื่องการช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิดและการแจ้งเตือนให้ความรู้เรื่องภัยทุ่นระเบิดในจังหวัดศรีสะเกษและบุรีรัมย์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย[82]

Landmine Monitor ได้รับข้อมูลตอบแบบสอบถามเรื่องการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด จำนวน 17 ชุด จากที่ได้จัดส่งไปยังโรงพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด 67 แห่ง โรงพยาบาลจำนวนไม่มากนักที่สามารถให้ข้อมูลตัวเลขจำนวนผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดที่เข้ารับบริการ เนื่องจากขาดระบบจัดเก็บข้อมูลเฉพาะสำหรับผู้รับบริการกลุ่มนี้ โรงพยาบาลและศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ รวม 16 แห่งระบุว่าให้บริการผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวน 251 คนในปี 2545 ผ่านทางการรักษาพยาบาลและการจัดสรรเครื่องช่วยการเคลื่อนไหว[83]

ในปี 2545 ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้จัดหาแขน-ขาเทียมจำนวน 314 ข้างและเครื่องช่วยพยุงการเดิน 167 ชุด ให้แก่ผู้พิการ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่ามีผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดในจำนวนนี้[84]

มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดหน่วยขาเทียมเคลื่อนที่ให้บริการฟรีแก่ผู้พิการในจังหวัดห่างไกลอย่างต่อเนื่อง ในปี 2545 มูลนิธิฯ ได้มอบขาเทียมจำนวน 1,155 ขา และไม้ค้ำยันจำนวน 253 คู่ ให้แก่ผู้พิการจำนวน 1,043 คน โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด 209 คน สำหรับปี 2546 มูลนิธิฯ มีแผนออกหน่วยเคลื่อนที่ 7 ครั้ง ได้แก่ 6 จังหวัดในภาคต่าง ๆ ของไทย และ 1 ครั้งในประเทศมาเลเซีย[85] การจัดหน่วยบริการขาเทียมเคลื่อนที่ในเดือนมีนาคม 2546 ถือเป็นกิจกรรมครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์มีพระชนมายุ 80 พรรษา ในเดือนพฤษภาคม 2546 มูลนิธิฯ มีแผนเปิดโรงงานใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีช่างเทคนิคประจำ 12 คน และจะมีขีดความสามารถในการผลิตแขน-ขาเทียมจากวัตถุดิบที่หาได้จากภายในประเทศ ผลผลิตเหล่านี้จะสอดคล้องกับมาตรฐานของสมาคมกายอุปกรณ์สากล (International Society of Prosthetics and Orthotics : ISPO) โครงการจัดฝึกอบรมการผลิตขาเทียมระดับเหนือหัวเข่าจะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2546 พิธีเปิดโรงงานมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2546[86]

ตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เปิดศูนย์ผลิตกายอุปกรณ์ขาเทียมไปแล้ว 15 แห่งภายในโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา องค์การฯ ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐานและศูนย์ผลิตกายอุปกรณ์ภายในพื้นที่รองรับผู้หนีภัยจากการสู้รบชายแดนไทย-เมียนมาร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้พิการ รวมถึงผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด ช่างเทคนิคที่เป็นผู้ลี้ภัยได้รับการฝึกอบรมด้านการผลิตขาเทียม โครงการต่าง ๆ ขององค์การฯ ครอบคลุมถึงการแจกจ่ายเก้าอี้ล้อเข็นคนพิการและจัดฝึกอาชีพให้ผู้พิการในค่าย ในปี 2545 มีการผลิตขาเทียมจำนวน 137 ขาให้แก่ผู้พิการในค่ายผู้ลี้ภัย 7 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นผู้พิการรายใหม่ 54 ราย[87]

โครงการขององค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประจำชายแดนกัมพูชา ซึ่งดำเนินการในจังหวัดจันทบุรี ได้จัดฝึกอบรมช่างเทคนิคที่เป็นผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวนหนึ่ง และได้จัดตั้งศูนย์ผลิตและซ่อมขาเทียมขึ้นภายในหมู่บ้าน ในปี 2545 มีการผลิตขาเทียมจำนวน 13 ขา และฝ่าเท้าเทียมจำนวน 30 ข้าง[88] ศูนย์ดังกล่าวสามารถให้บริการแก่ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดและผู้พิการจากสาเหตุอื่น ๆ จำนวน 40 คนที่อาศัยอยู่ในตำบลเทพนิมิตและคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน[89]

สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (โคเออร์) ได้เริ่มระดมทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาบุตร-ธิดาของผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดในจังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2544 เป็นต้นมา ในช่วงกลางปี 2545 ทุนการศึกษาจำนวน 1,000,000 บาท (23,469 ดอลล่าร์สหรัฐ) สามารถสนับสนุนเด็กนักเรียนจำนวนประมาณ 200 คน ในเรื่องเครื่องแบบนักเรียน ชุดกีฬา เครื่องเขียน ค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมพิเศษ/ทัศนศึกษา และในบางกรณี เพื่อซ่อมแซมที่พัก และการเดินทางไปโรงเรียน[90]

โครงการฝ่าเท้าเทียมไนแอการา (Niagara Foot) ด้วยทุนสนับสนุนจากรัฐบาลแคนาดา ได้ร่วมกับแผนกขาเทียมของโรงพยาบาลอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ในการจัดให้คนไข้ได้ทดลองใช้ฝ่าเท้าเทียมแบบใหม่นี้ แผนการขยายระยะเวลาโครงการอยู่ในระหว่างการประเมิน การพัฒนาและทดลองใช้ฝ่าเท้าในสถานพยาบาลนี้ ใช้ทุนดำเนินการประมาณ 67,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (2,854,803 บาท)[91]

ในปี 2545 คณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด ดำเนินโครงการระยะเวลา 1 ปีภายในจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การสร้างความตระหนักเรื่องภัยทุ่นระเบิด และจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนขนาดเล็ก โดยมีครอบครัวผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจำนวน 50 ครอบครัวร่วมในโครงการดังกล่าว การจัดทำฐานข้อมูลผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนเสริมให้ระบบฐานข้อมูลของ ศทช. มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากขาดบุคลากรที่เหมาะสม คณะทำงานฯ สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้รอดชีวิตจำนวน 120 ราย อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและปรับให้เป็นปัจจุบัน[92]

องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ดำเนินโครงการ “สร้างความเข้มแข็งของระบบและกลไกการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย” ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงตุลาคม 2545 องค์ประกอบสำคัญของโครงการได้แก่การสัมมนาระดับชาติเรื่อง “รูปแบบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดแบบครบวงจร (ประสบการณ์จังหวัดจันทบุรี)” ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2545 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน 90 คนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด รูปแบบการช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิดแบบครบวงจรซึ่งเป็นผลจากการสัมมนาครั้งนี้ ได้รับการนำเสนอต่อผู้บริหารนโยบายในกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทุนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดสรรให้ ศทช. ผ่านทางโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติในปี 2544[93] การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับข้อเสนอแนะจากการสัมมนาระดับภูมิภาคในหัวข้อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุ่นระเบิด ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2544

ไทยยังไม่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดในระดับชาติ ตามข้อเสนอแนะของการสัมมนาระดับภูมิภาค ในเดือนพฤศจิกายน 2544[94]

ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดจากพม่า (เมียนมาร์) ที่แสวงหาความช่วยเหลือในไทย จะได้รับบริการด้านการแพทย์จากโรงพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัย (พื้นที่รองรับผู้หนีภัยจากการสู้รบ) และโรงพยาบาลประจำอำเภอในจังหวัดที่ตั้งอยู่ตามตามแนวชายแดนไทย-พม่า อาทิ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และชุมพร ผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดส่วนใหญ่จะกลายเป็นคนพิการแขนขา[95] โรงพยาบาลอำเภอแม่สอดได้บันทึกข้อมูลผู้รับบริการที่บาดเจ็บจากเหตุทุ่นระเบิดในปี 2545 จำนวน 68 คน โดยร้อยละ 80 จากจำนวนนี้มาจากพม่า[96] ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดชาวพม่าในไทยบางรายไม่มีสิทธิรับความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศ หากไม่มีชื่ออยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่จัดตั้งขี้นเป็นทางการ นับแต่เดือนเมษายน 2544เป็นต้นมา สถานพยาบาลแม่ตาว ในฝั่งไทย ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวพม่าเป็นพิเศษ ได้เปิดบริการด้านขาเทียม-กายอุปกรณ์ ในปี 2545 คลีนิคแห่งนี้ได้จัดหาขาเทียมฟรีจำนวน 150 ขา โดยร้อยละ 74 ของผู้รับผลประโยชน์เป็นผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดจาก 4 รัฐชายแดนของพม่า องค์การ Clear Path International ให้การสนับสนุนทุนดำเนินการของแผนกขาเทียมนี้ในปี 2545[97]

นโยบายและการปฏิบัติด้านคนพิการ

กฎหมายระดับชาติว่าด้วยคนพิการมีการบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา[98] ปี 2545 ได้รับการประกาศให้เป็นปีส่งเสริมอาชีพคนพิการ โดยมีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 7 ล้านบาท (164,285 ดอลล่าร์สหรัฐ) สำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและสำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (เดิม - ประชาสงเคราะห์) ระดับจังหวัดรับผิดชอบการสมัครขอรับทุนสนับสนุน[99]

ในเดือนพฤษภาคม 2545 คณะกรรมการติดตามและประสานงานนโยบายช่วยเหลือคนพิการ ได้กำหนดให้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานประสานงานหลักในการดูแลสุขภาพคนพิการของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังได้กำหนดรายการการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในสถานพยาบาลและอาคารสถานที่ของกระทรวงสาธารณสุข จัดทำร่างชุดสิทธิประโยชน์และมาตรฐานสถานพยาบาลที่จะรองรับบริการ รวมทั้งได้หารือเรื่องนโยบายการประกอบอาชีพโดยไม่จำกัดความพิการ และการจัดให้มีสายด่วนสุขภาพสำหรับคนพิการ[100]

ในเดือนตุลาคม 2545 ฯพณฯ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในการประชุมเชิงบูรณาการเรื่อง “แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบบูรณาการสู่การปฏิบัติ” โดยหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ในระดับชาติได้แถลงยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการต่อที่ประชุม[101]

ในเดือนพฤศจิกายน 2545 สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหว (สพค.) ได้รับการก่อตั้งและจดทะเบียนที่จังหวัดปทุมธานี โดยเป็นสมาคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ การศึกษา อาชีพของคนพิการทั้งในเขตเมืองและชนบท เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคนพิการต่อสาธารณชน และสนับสนุนการรวมกลุ่มและการประสานงานระหว่างองค์กรคนพิการทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติ[102]

ระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน และ 3 ธันวาคม 2545 ได้มีการจัดกิจกรรม 18 ประเภทในโอกาสวันคนพิการสากล รวมถึงการฉลองครบรอบ 20 ปีของสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย[103]

ในปี 2545 องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ได้ฉลองครบรอบ 20 ปีของการทำงานในไทย ภายใต้คำขวัญ “20 ปีแห่งการทำงานเพื่อคนพิการ”[104]

ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดชาวไทยจำนวน 4 คนได้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้นำในโครงการ “Raising the Voices” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการประชุมคณะกรรมการประจำระหว่างสมัยประชุม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 (ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)

ไทยได้ส่งมอบแบบฟอร์ม J ซึ่งเป็นการรายงานโดยสมัครใจเกี่ยวกับกิจกรรมการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิดของไทยในปี 2545 แนบประกอบเอกสารรายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7 ของอนุสัญญาฯ[105]


[1] รายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7, แบบฟอร์ม A, 30 เมษายน 2546. เนื้อหาระบุถึง “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการควบคุมการปฏิบัติตามอนุสัญญา ปี พ.ศ. 2545 (ฉบับร่าง)” และ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการควบคุมการรับ เก็บ จ่ายเงินหรือสิ่งของช่วยเหลือเพื่อการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับทุ่นระเบิด ปี พ.ศ. 2545 (ฉบับร่าง)” และ การสัมภาษณ์ ไพโรจน์ วิกินิยะธานี, ผู้อำนวยการกองการเมือง, กรมองค์การระหว่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ, กรุงเทพฯ, 10 มกราคม 2546.
[2] การสัมภาษณ์ ไพโรจน์ วิกินิยะธานี, ผู้อำนวยการกองการเมือง, กรมองค์การระหว่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ, กรุงเทพฯ, 10 มกราคม 2546.
[3] มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 เมษายน 2546, http://www.cabinet.thaigov.go.th/cc_main21.htm (เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546).
[4] คำสั่งคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 5, ฉบับที่ 24/2546, ลงวันที่ 29 มีนาคม 2546. พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม.
[5] อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา: 1 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ = 42.609 บาท, ใช้อ้างอิงในรายงานฉบับนี้.
[6] หนังสือพิมพ์ Bangkok Post, 28 มกราคม 2546, หน้า 9.
[7] สรุปรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (ภายใน), 18 ตุลาคม 2545, หน้า 1-2.
[8] การจัดตั้ง BRAG เกิดขึ้นเมื่อมีการประชุมรัฐภาคีฯ ครั้งที่ 4 ประเทศสมาชิกในปัจจุบันประกอบด้วยออสเตรเลีย บังคลาเทศ กัมพูชา แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ ไทย และติมอร์เลสต์.
[9] อัจฉรา สุยะนันทน์, อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ, ข้อมูลนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการประจำด้านสถานะทั่วไปและปฏิบัติการของอนุสัญญา, นครเจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์, 3 กุมภาพันธ์ 2546.
[10] คัดมาจากแห่งเดียวกัน.
[11] การชี้แจงของไทยในที่ประชุมการลดอาวุธ, 27 กุมภาพันธ์ 2546.
[12] การสัมภาษณ์ ไพโรจน์ วิกิณิยะธนี, กระทรวงการต่างประเทศ, กรุงเทพฯ, 10 มกราคม 2456.
[13] แหล่งข้อมูลหลายแห่งระบุว่าไทยเป็นผู้ผลิตทุ่นระเบิดในอดีต. ดูรายละเอียดในเอกสาร Landmine Monitor Report 1999, หน้า 376.
[14] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับพันเอกสุรพล สุวรรณวงศ์, ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) ฝ่ายปฏิบัติการ, กรุงเทพฯ, 26 มีนาคม 2545.
[15] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับพันตำรวจตรี เจริญ ธรรมขัน, พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี, สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง, จังหวัดสงขลา, 6 มกราคม 2546. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเอกสาร Landmine Monitor Report 2002, หน้า 484.
[16] ดูรายละเอียดในเอกสาร Landmine Monitor Report 2002, หน้า 484. ข้อกล่าวหาต่าง ๆ จากกลุ่มกบฏที่ถูกสัมภาษณ์ในเดือนพฤศจิกายน 2544.
[17] Bill Bainbridge และ Lon Nora, “Thai border guards set 'mine trap' for Cambodians,” (ตำรวจตระเวนชายแดนไทยวางกับระเบิดดักเขมร) หนังสือพิมพ์ Phnom Penh Post (กัมพูชา), 23 พฤศจิกายน 2545. หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม แต่ไม่มีการระบุเรื่องทุ่นระเบิด. “รถข้ามแดนเดือด สังเวยเรนเจอร์ 7 ศพ บาดเจ็บ 5,” หนังสือพิมพ์ชายแดน (หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว), 16-31 ตุลาคม 2545; “ตชด. เด็ดเรียบ ถล่ม 7 ศพ โจรเขมรลักรถ,” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 3 ตุลาคม 2545, หน้า 1.
[18] จดหมายจาก อัจฉรา สุยะนันทน์, อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ, ถึง เอมิลี่ เกตุทัต, ผู้ประสานงานคณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด, 27 มิถุนายน 2546. จดหมายระบุรายละเอียดผลการตรวจสอบว่าผู้ลักลอบ 5 คนถูกสังหารระหว่างการปะทะด้วยปืน ศูนย์อำนวยการร่วม 101 กองบัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติการตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ได้ดำเนินการตรวจสอบ; การหารือกับพลตรี กิตติ สุขสมสถาน, ผู้อำนวยการ ศทช., ศทช., กรุงเทพฯ, 17 มกราคม 2546.
[19] การตอบข้อซักถามของ Landmine Monitor โดยพันเอก สุรพล สุวรรณวงศ์, ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ปฏิบัติการ), ศทช., 24 มกราคม 2546.
[20] การนำเสนอข้อมูลของไทย ในที่ประชุมคณะกรรมการประจำด้านการทำลายทุ่นระเบิดในคลังสะสม, นครเจนีวา, 15 พฤษภาคม 2546.
[21] ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ, เอกสารรายงานผลการดำเนินงาน, ธันวาคม 2545, หน้า 2. เอกสารฉบับนี้ระบุถึงจำนวน 120,000 ทุ่นในปีปฏิทิน 2545. จำนวน 48,688 ทุ่นจากยอดรวม ถูกทำลายขณะเกิดอุบัติเหตุระเบิดที่คลังแสงปากช่อง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544.
[22] การตอบข้อซักถามของ Landmine Monitor โดย ศทช., 24 มกราคม 2546.
[23] คัดมาจากแห่งเดียวกัน; รายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7, 30 เมษายน 2546.
[24] บุคลากรของ ศทช. รับผิดชอบการทำลายทุ่นระเบิดในคลัง, ตอบข้อซักถามของ Landmine Monitor เรื่องพื้นที่การทำลายทุ่นระเบิด, จังหวัดราชบุรี, 25 กุมภาพันธ์ 2546.
[25] การตอบข้อซักถามของ Landmine Monitor โดย ศทช., 24 มกราคม 2546.
[26] Landmine Impact Survey - Kingdom of Thailand (รายงานการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิด ราชอาณาจักรไทย), รับรองโดย United Nations Certification Committee, แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2544 และเผยแพร่กลางปี 2545. เนื้อหาโดยสรุปของรายงานฉบับนี้ ปรากฏในรายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7 ของไทย, แบบฟอร์ม C, 30 เมษายน 2546. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสำรวจและปัญหาด้านทุ่นระเบิดใน Landmine Monitor Report 2002, หน้า 486-487.
[27] รายงานจากสุทธิเกียรติ โสภณิก, ผู้อำนวยการมูลนิธิพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ, ต่อที่ประชุมคณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด, 13 มีนาคม 2003. รายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7 ของไทย เมื่อเดือนเมษายน 2546 ระบุว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2545 หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (นปท.) ที่ 1 และ 3 ติดตั้งป้ายเตือนภัยที่ตำบลโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ และในเดือนพฤษภาคม 2545 นปท. 1 ติดตั้งป้ายเตือนภัยในพื้นที่กว่า 26,840 ตารางเมตรของบ้านหนองหญ้าแก้ว จังหวัดสระแก้ว, ในขณะที่ นปท. 2 ติดตั้งป้ายเตือนภัยในบ้านโขดทราย จังหวัดตราด และบ้านผักกาด จังหวัดจันทบุรี.
[28] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับรองผู้อำนวยการโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program), กรุงเทพฯ, 9 มกราคม 2546. องค์การความช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (Norwegian People's Aid) ดำเนินโครงการสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย ภายใต้สัญญาที่กระทำกับศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ (Survey Action Center), และ ศทช. ศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ/มูลนิธิทหารผ่านศึกเวียดนามแห่งสหรัฐอเมริกา (Vietnam Veterans of America Foundation) รับผิดชอบการแก้ไขต้นฉบับและจัดพิมพ์รายงานฉบับดังกล่าว.
[29] ตัวอย่างเช่น ชายแดนไทย-กัมพูชา ข้อมูลในรายงานฉบับเผยแพร่เป็นทางการระบุว่ามีจำนวนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด 297 แห่ง ซึ่งต่างจากจำนวน 295 แห่งตามที่ได้แถลงผลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2544; จำนวนเหยื่อทุ่นระเบิด 2,601 ราย จากที่แถลงไว้ 2,605 ราย; พื้นที่ทุ่นระเบิดตกค้าง 473 แห่ง จากที่แถลงไว้ 457 แห่ง; และขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 1,943.6 ตารางกิโลเมตร จากที่แถลงไว้ 1,823 ตารางกิโลเมตร.
[30] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ Dave McCracken, ศทช./USHDP ประเทศไทย, กรุงเทพฯ, 8 มกราคม 2546.
[31] รายงานความก้าวหน้าของโครงการร่วมระหว่าง ศทช./UNDP หมายเลขโครงการ TH/99/008, 20 สิงหาคม - 31 ธันวาคม 2544.
[32] ดู Landmine Monitor Report 2001, หน้า 485. คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 แต่ยังไม่เคยมีการประชุม (จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2545).
[33] คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 195/2545 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม, 28 มิถุนายน 2545.
[34] การสัมภาษณ์ พลตรี กิตติ สุขสมสถาน ผู้อำนวยการ ศทช. และผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศทช., ศทช., กรุงเทพฯ, 17 มกราคม 2546.
[35] ศทช., “แผนแม่บทการปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมของประเทศไทย ฉบับที่ 1 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1) ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2545-พ.ศ. 2549),” 26 ธันวาคม 2544, ผนวก ท-4 “Summary of Priority High Impact Minefields” (สรุปลำดับความเร่งด่วนของสนามทุ่นระเบิดที่มีผลกระทบในระดับรุนแรง), กุมภาพันธ์ 2545.
[36] ข้อมูลจัดพิมพ์โดย ศทช. และได้รับการยืนยันจากกระทรวงการต่างประเทศ, 8 มกราคม 2546.
[37] ศทช., สรุปผลการประชุม คณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ณ สภาความมั่นคงแห่งชาติ, กรุงเทพฯ, 18 ธันวาคม 2545.
[38] กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา, “To Walk the Earth in Safety,” กันยายน 2545, หน้า 30.
[39] จดหมายอิเล็คทรอนิกส์จาก George P. Kent, เลขานุการโท, ฝ่ายการเมือง, สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา, กรุงเทพฯ, 11 มีนาคม 2546.
[40] Lincoln P. Bloomfield, Jr., ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และผู้ช่วยเลขาธิการรัฐด้านปฏิบัติการทุ่นระเบิด, ถ้อยแถลงเรื่องการมอบสุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิด, ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี., 14 มีนาคม 2546, เอกสารแถลงข่าวสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย, #010/03, 14 มีนาคม 2546.
[41] จดหมายอิเล็คทรอนิกส์จาก George P. Kent, สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย, 11 มีนาคม 2546.
[42] คัดมาจากแห่งเดียวกัน.
[43] ดูรายละเอียดใน Landmine Monitor Report 2002, หน้า 489.
[44] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ Alexander Leveque, สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย, กรุงเทพฯ, 24 มกราคม 2546.
[45] การตอบแบบสอบถาม Landmine Monitor โดย Capt. Wataru Sugaya, ผู้จัดการทั่วไปปฏิบัติการในภูมิภาคเอเชีย, JAHDS, กรุงเทพฯ, 13 มกราคม 2546.
[46] จดหมายอิเล็คทรอนิกส์ จาก Capt. Wataru Sugaya, ผู้จัดการทั่วไปปฏิบัติการในภูมิภาคเอเชีย, JAHDS, กรุงเทพฯ, 16 มกราคม 2546.
[47] คัดมาจากแห่งเดียวกัน.
[48] รายงานการประชุมคณะกรรมการวางระเบียบการดำเนินงานประจำโครงการร่วมของศทช. / โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ, โดยพลตรี กิตติ สุขสมสถาน, ผู้อำนวยการ ศทช., 15 มกราคม 2546.
[49] การรายงานจากสุทธิเกียรติ โสภณิก, ผู้อำนวยการมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, ในการประชุมคณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด, กรุงเทพฯ, 13 มีนาคม 2546.
[50] จดหมายอิเล็คทรอนิกส์ จากศุษิรา ชนเห็นชอบ, องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, กรุงเทพฯ, 18 มีนาคม 2546.
[51] คณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด, ”Summary End of Project Report to Canada Fund” (เอกสารสรุปผลการดำเนินโครงการ ต่อกองทุนแคนาดา), 23 ธันวาคม 2545.
[52] การตอบแบบสอบถาม Landmine Monitor จาก วิกานดา พิทักษ์, เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์, มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, เชียงใหม่, 24 กุมภาพันธ์ 2546.
[53] โทรสารจาก ศทช., “สรุปผลงานของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (นปท.) เดือนมกราคม-ธันวาคม 2545,” 24 มีนาคม 2546.
[54] รายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7, แบบฟอร์ม G, 30 เมษายน 2546. ศทช. รายงานตัวเลขที่ค่อนข้างแตกต่าง กล่าวคือ การทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล 153 ทุ่น ทุ่นระเบิดกับดักยานพาหนะ 2 ทุ่น และสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด 136 ลูก; โทรสารจาก ศทช., “สรุปผลงานของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (นปท.) เดือนมกราคม-ธันวาคม 2545,” 24 มีนาคม 2546.
[55] โทรสารจากห้องปฏิบัติการฐานข้อมูลของ ศทช., กรุงเทพฯ, 19 พฤษภาคม 2546. ตัวเลขเหล่านี้ดูเหมือนไม่ได้รวมปฏิบัติการกวาดล้างกรณีฉุกเฉินที่ดำเนินการหลังจากเกิดเหตุระเบิดที่คลังแสงหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง (จังหวัดนครราชสีมา) ในเดือนตุลาคม 2544. ตามข้อมูลใน Landmine Monitor Report 2002 (หน้า 487) ปฏิบัติการครั้งนั้นสามารถกวาดล้างวัตถุระเบิดครอบคลุมพื้นที่ 4,125,350 ตารางเมตร.
[56] โทรสารจากห้องปฏิบัติการฐานข้อมูลของ ศทช., กรุงเทพฯ, 19 พฤษภาคม 2546.
[57] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับพันเอกสุรพล สุวรรณวงศ์, ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศทช., 27 มีนาคม 2546.
[58] การตรวจเยี่ยมพื้นที่บ้านหนองหญ้าแก้ว จังหวัดสระแก้ว, โดยกุลชาติ แดงเดช, 8 ตุลาคม 2545.
[59] ศทช., “แผนแม่บทการปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมของประเทศไทย ฉบับที่ 1 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1) ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2545-พ.ศ. 2549),” ผนวก ฝ-4, แผนงานโครงการและประมาณการความต้องการงบประมาณห้วง 5 ปี, กุมภาพันธ์ 2545.
[60] โทรสารจากห้องปฏิบัติการฐานข้อมูลของ ศทช., กรุงเทพฯ, 19 พฤษภาคม 2546.
[61] การสัมภาษณ์ผูอำนวยการและผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศทช., 17 มกราคม 2546; เอกสารประกอบการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม, 18 ธันวาคม 2545; ดู Landmine Monitor Report 2002, หน้า 488.
[62] การสัมภาษณ์ สุทธิเกียรติ โสภณิก, ผู้อำนวยการมูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, กรุงเทพฯ, 13 มีนาคม 2546.
[63] โทรสารจาก ศทช., “สรุปผลงานของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (นปท.) เดือนมกราคม-ธันวาคม 2545,” 24 มีนาคม 2546.
[64] ข้อมูลตอบคำถามของ Landmine Monitor โดย ศทช., ได้รับเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2546.
[65] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ กับบุคลากรของ นปท. 1, 2, และ 3, 28 มีนาคม 2546.
[66] ข้อมูลตอบแบบสอบถามของ Landmine Monitor โดย สิริกาญจน์ คหัฏฐา, เจ้าหน้าที่ประสานงานภาครัฐ, ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย, 3 มกราคม 2546.
[67] การรายงานของ สิริกาญจน์ คหัฏฐา, เจ้าหน้าที่ประสานงานภาครัฐ, ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย, ในการประชุมคณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด, กรุงเทพฯ, 13 มีนาคม 2546.
[68] สุพจน์ บุญเต็ม, ผู้จัดการโครงการชายแดนกัมพูชา, องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, “แบบสอบถามเรื่องการให้ความรู้ความตระหนักเรื่องภัยทุ่นระเบิด,” 24 มีนาคม 2546; องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, Annual Report 2002 (รายงานกิจกรรม ประจำปี 2545), กรุงเทพฯ, หน้า 9-10.
[69] องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, “Mine Casualties Survey Report, Mae-Sot District Hospital, Tak Province, January 2001-December 2002” (รายงานการสำรวจผู้ได้รับบาดเจ็บ-เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทุ่นระเบิด, โรงพยาบาลอำเภอแม่สอด, จังหวัดตาก, มกราคม 2544-ธันวาคม 2545) - กำหนดจัดพิมพ์เผยแพร่ในปี 2546.
[70] จดหมายอิเล็คทรอนิกส์ จากศุษิรา ชนเห็นชอบ, องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, กรุงเทพฯ, 18 มีนาคม 2546.
[71] องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, Annual Report 2002, (รายงานกิจกรรม ประจำปี 2545), กรุงเทพฯ, หน้า 13-14; พิชชาภา นาคทั่ง, เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล, โครงการชายแดนพม่า, องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, “January-June 2002 Report” (รายงานกิจกรรมระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2545), กำหนดจัดพิมพ์ในปี 2546. ค่ายผู้ลี้ภัยต่าง ๆ ได้แก่ ค่ายแม่ระมาดหลวง แม่คงคา ดอนยาง แคมป์ 2 แคมป์ 3 และถ้ำหิน.
[72] พิชชาภา นาคทั่ง, เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล, โครงการชายแดนพม่า, องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, “January-June 2002 Report” (รายงานกิจกรรมระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2545), กำหนดจัดพิมพ์ในปี 2546.
[73] ข้อมูลตอบคำถามของ Landmine Monitor โดย ศทช., 24 มกราคม 2546.
[74] คัดมาจากแห่งเดียวกัน.
[75] ข้อมูลจากวิบูลรัตน์ จันทร์ชู, ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด, จังหวัดสระแก้ว, ถึงคณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด.
[76] จดหมายอิเล็คทรอนิกส์ จากองค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ถึงนักวิจัยของ Landmine Monitor ประเทศพม่า, ธันวาคม 2545. ร้อยละ 80 ที่เหลือได้รับบาดเจ็บที่ชายแดนฝั่งพม่า.
[77] ข้อมูลตอบคำถามของ Landmine Monitor โดย ศทช., 24 มกราคม 2546.
[78] “Walking wounded,” ภาพถ่ายพร้อมคำอธิบายประกอบ, หนังสือพิมพ์ The Nation, 18 กุมภาพันธ์ 2546, หน้า 4A.
[79] Landmine Impact Survey: Kingdom of Thailand (การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิด: ราชอาณาจักรไทย), หน้า 18.
[80] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Landmine Monitor Report 2000, หน้า 443.
[81] ศทช., เอกสารการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ, มกราคม-ธันวาคม 2545.
[82] ถ้อยแถลงของไทย ต่อที่ประชุมคณะกรรมการประจำด้านการช่วยเหลือเหยื่อทุ่นระเบิดและการปรับฟื้นคืนสภาพด้านเศรษฐกิจ-สังคม, นครเจนีวา (สวิตเซอร์แลนด์), 4 กุมภาพันธ์ 2546.
[83] ข้อมูลตอบแบบสอบถามของ Landmine Monitor โดยโรงพยาบาล 16 แห่ง และองค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล.
[84] ข้อมูลตอบแบบสอบถามของ Landmine Monitor โดยศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ, นนทบุรี, 28 มกราคม 2546.
[85] ข้อมูลตอบแบบสอบถามของ Landmine Monitor โดยวิกานดา พิทักษ์, เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์, มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, เชียงใหม่, 24 กุมภาพันธ์ 2546.
[86] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ กับ รศ. ดร. เทอดชัย ชีวะเกตุ, เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ, เชียงใหม่, 17 มีนาคม 2546.
[87] จดหมายอิเล็คทรอนิกส์ จากองค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ถึงนักวิจัยของ Landmine Monitor ประเทศพม่า, 6 พฤษภาคม 2546.
[88] ข้อมูลตอบแบบสอบถามของ Landmine Monitor โดยสุพจน์ บุญเต็ม, ผู้จัดการโครงการชายแดนกัมพูชา, องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, 24 มีนาคม 2546.
[89] การสัมภาษณ์ ชูศักดิ์ แซ่ลี้, ผู้รอดชีวิตจากภัยทุ่นระเบิด และช่างเทคนิคที่ผ่านการฝึกอบรมโดยองค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล, อำเภอโป่งน้ำร้อน, จังหวัดจันทบุรี, 27 กุมภาพันธ์ 2546; โทรสารจากองค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานจันทบุรี, 8 มกราคม 2546.
[90] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ จรัสกร หมั่นคติธรรม, ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ, สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย, กรุงเทพฯ, 18 มีนาคม 2546.
[91] การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ Alexander Leveque, สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย, กรุงเทพฯ, 24 มกราคม 2546; และจดหมายอิเล็คทรอนิกส์ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2546.
[92] คณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด, “Summary End of Project Report to Canada Fund,” (เอกสารสรุปผลการดำเนินโครงการ ต่อกองทุนแคนาดา), 23 ธันวาคม 2545.
[93] องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, สรุปรายงานโครงการ “สร้างความเข้มแข็งของระบบและกลไกการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย,” 27 กุมภาพันธ์ 2546.
[94] ดู Landmine Monitor Report 2002, หน้า 494.
[95] องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, “Mine Casualties Survey Report, Mae Sot District Hospital, Tak Province, January 2001-December 2002” (รายงานการสำรวจผู้ได้รับบาดเจ็บ-เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทุ่นระเบิด, โรงพยาบาลอำเภอแม่สอด, จังหวัดตาก, มกราคม 2544-ธันวาคม 2545) - กำหนดจัดพิมพ์เผยแพร่ในปี 2546.
[96] จดหมายอิเล็คทรอนิกส์ จากองค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ถึงนักวิจัยของ Landmine Monitor ประเทศพม่า, ธันวาคม 2545.
[97] การสัมภาษณ์ Dr. Cynthia Maung, ผู้อำนวยการสถานพยาบาลแม่ตาว, อำเภอแม่สอด (จังหวัดตาก), โดยนักวิจัยของ Landmine Monitor ประเทศพม่า, 21 มีนาคม 2546. ในปี 2545 Clear Path International จัดสรรทุนจำนวน 22,250 ดอลล่าร์สหรัฐ (948,050 บาท) ให้สำหรับการจัดหาขาเทียม การฝึกอบรม และการสร้างเรือนพักสำหรับคนพิการ.
[98] ดู Landmine Monitor Report 2001, หน้า 491.
[99] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Landmine Monitor Report 2002, หน้า 494.
[100] สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, จดหมายข่าว, กรกฎาคม-สิงหาคม 2545, หน้า 12.
[101] สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, จดหมายข่าว, พฤศจิกายน-ธันวาคม 2545, หน้า 1, 3-5.
[102] จดหมายจากพันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ, สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหว, 21 มกราคม 2546.
[103] สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, จดหมายข่าว, พฤศจิกายน-ธันวาคม 2545, หน้า 8-12.
[104] องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, “การทำงานแบบเพื่อนร่วมงานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เอกสารเผยแพร่ในโอกาสครบรอบ 20 ปี องค์การแฮนดิแคปอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, 2545.
[105] รายงานความโปร่งใสตามมาตรา 7, แบบฟอร์ม J, 30 เมษายน 2546.